20 กันยายน 2554

SCG All thailand badminton championship 2011


       ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการแข่งขันแบดมินตันรายการใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย ในรายการ  SCG All thailand badminton championship 2011 ซึ่งเป็นรายการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ผมคิดว่ารายการนี้มีความสำคัญต่อนักกีฬาแบดมินตัน เพราะรายการนี้เป็นการแข่งขันที่มีความสำคัญมากกว่าการได้เงินรางวัล แต่ถือเป็นศักดิ์ศรี และเกียรติยศสูงสุดของการเป็นนักกีฬาโดยแท้จริง ที่จะได้ครองถ้วนพระราชทานนี้

      นักกีฬาแต่ละคนจึงต้องทุ่มเทความสามารถอย่างเต็มที่ในรายการแข่งขันนี้ ซึ่งจัดการแข่งขันที่ MCC Hall เดอะมอลล์บางกะปิระหว่างวันที่ 13 - 18 กันยายน 2554 ซึ่งผลการแข่งขันในรายการนี้ ผู้เขียนเองนั้นในบางรายการก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนคาดเดาไว้ว่าใครจะได้แชมป์ แต่ในบางรายการก็สร้างความประหลาดใจเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ชนะในแต่ละประเภทขอรวบรัดสรุปดังนี้


       ประเภทชายคู่ชนะเลิศได้แก่ บดินทร์ อิสสระ และมณีพงศ์ จงจิตร  ที่โชว์ฟอร์มได้สมราคากับตำแหน่งชนะเลิศประเภทชายคู่กีฬามหาวิทยาลัยโลก  ประเทศ จีน  ล่าสุด ซึ่งสามารถเอาชนะ ปฏิพัทธ์ ฉลาดแฉลม และ นิพิธพนธ์ พวงพั่วเพชร ไปอย่างสนุก 

       ประเภทหญิงคู่ ชนะเลิศตกเป็นของนักแบดมินตันมากประสบการณ์อย่าง       กุญชลา วรวิจิตรชัยกุล และ ดวงอนงค์ อรุณเกษร สามารถเอาชนะนักแบดมินตันรุ่นน้องทีมชาติอย่าง เนศรา สมศรี และ สาวิตรี อมิตรพ่าย ซึ่งในฝ่ายหลังนั้นในปัจจุบันเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การแข่งขันยังต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

       ประเภทหญิงเดี่ยว "มิ้ง" สลักจิต พลสนะ นักแบดมินตันผู้น้องของบุญศักดิ์ พลสนะ ยังแสดงให้เห็นว่าฝีมือในการเล่นยังมีมารตรฐานดีอยู่เสมอ เมื่อสามารถเอาชนะนักแบดมินตันรุ่นน้องอย่าง ณิชาอร จินดาพล ได้อย่างสูสี 

       ในประเภทคู่ผสมเป็นไปตามคาดเมื่อ ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ และ กุญชลา วรวิจิตรชัยกุล อาศัยฟอร์มการเล่นที่เข้าขากันเป็นอย่างดี และประสบการณ์ในการแข่งขันที่มีมากกว่า เบียดเอาชนะคู่ของ        มณีพงศ์ จงจิตร และ สาวิตรี อมิตรพ่าย ซึ่งในเกมที่สาม ทั้งทรงพลและกุญชลาได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและประสบการณ์ที่มากกว่าเอาชนะได้อย่างขาดลอย

       ซึ่งผิดคาดสำหรับผู้เขียนในประเภทชายเดี่ยว ซึ่งสัพพัญญู อวิหิงสานนท์ นักแบดมินตันซึ่งคว้าเหรียญทองในกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งล่าสุดที่ประเทศจีน สามารถเค้นฟอร์มเก่งเอาชนะนักแบดขวัญใจมหาชน "ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์      พลสนะ ไปอย่างสนุก 2 - 1 เกม สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้ทั้งสนามในวันนั้น ซึ่งผิดคาดกับฟอร์มในรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่สามารถเบียดเอาชนะ            นักแบดมินตันรุ่นน้ิองอย่าง "เจ้าเพชร" โฆษิต เพชรประดับ ในชนิดที่เรียกว่า      หืดขึ้นคอ

       ในรายการนี้ก็เหมือนเช่นทุกที ผมได้เป็นกรรมการตัดสินในรายการนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้านับความอาวุโสของผู้ตัดสินแล้ว ผมถือเป็นน้องเล็กที่สุดในการตัดสินรายการนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติในการปฏิบัติหน้าที่ตัดสินในรายการสำคัญของประเทศไทย ซึ่งรายการนี้นอกจากได้รับประสบการณ์จากการตัดสิน ในเรื่องของการแข่งขันผมก็ติดตามผลการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ได้มีโอกาสได้ดูนักกีฬาที่มากประสบการณ์ หรือเด็กที่กำลังฝึกฝนประสบการณ์ที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจให้ผมอยู่หลายประเด็น จึงขอเลาะขอบสนามแบดมินตันดังนี้ครับ

ณัฐพล  สารวัลย์ (ซ้ายสุด)
       สิ่งแรกที่ผมค่อนข้างประหลาดใจก็คือ ชายที่ชื่อว่า ณัฐพล สารวัลย์ ในวัยเลข 3 เข้าไปแล้ว (จำไม่ได้ว่าอายุพี่เขาเท่าไหร่ แต่น่าจะ 35)  ซึ่งในรายการนี้เขาสามารถปราบเด็กนักกีฬาวัยรุ่นได้ถึง 3 คนด้วยกัน เริ่มจาก อภิสิทธิ์ แซ่เตียว จาก สิงห์ เอช เอช , บุญยกร ธรรมพานิชวงศ์ จากเคซี , และ นนท์ปกรณ์ นันทธีโร จากบ้านทองหยอด ซึ่งนักกีฬาเยาวชนเหล่านี้ ถือเป็นมืออันดับต้นๆอยู่ในรุ่นเยาวชนทั้งสิ้น ด้วยสไตล์การเล่นที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนเข้าทำคะแนน เล่นอย่างใจเย็นสุขุมและประสบการณ์ที่มากกว่า ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้สามารถเบียดเอาชนะนักกีฬาเ้หล่านี้ไปได้ เพราะนักแบดมินตันวัยรุ่นมีความใจร้อนเป็นปกตินิสัยอยู่แล้ว เมื่อเจอคนที่มีประสบการณ์มากกว่าทำให้การเล่นของตัวเองเกิดความผิดพลาดได้เป็นธรรมดา ........... แต่ท้ายที่สุดแล้วในรอบ 16 คน ณัฐพล สารวัลย์ ก็ไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของแชมป์ในรายการนี้อย่าง สัพพัญญู อวิหิงสานนท์ ไปได้

             ซึ่งนี้ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า........อายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเล่นกีฬาชนิดนี้จริงๆแล้วตัวผู้เขียนจะรอดูและติดตามผลงานของชายที่ชื่อว่า ณัฐพล  สารวัลย์ต่อไป ครับ


สุจิตรา เอกมงคลไพศาล (ซ้าย)
       อีกคนหนึ่งที่ตัวผู้เขียนยังทึ่งในความสามารถของเธออีกเช่นกันคือ พี่ตา หรือ สุจิตรา เอกมงคลไพศาล เธอคนนี้เคยสร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับคนไทยเมื่อในอดีต จากการเป็นนักแบดมินตันทีมชาติไทย ที่ต้องลงแข่งขันกีฬาซีเกมส์ทั้งๆที่ยังมีอาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวเข่า จนมาทุกวันนี้แม้อาการบาดเจ็บจะไม่มีทางหายได้อย่างสนิท แต่ก็ยังมีดีพอที่จะลงแข่งขันต่อได้ในประเภทคู่จนทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่ก็ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญและขอยกย่องในฝีมือมา ณ ที่นี้

       ข้ามฟากมาดูที่เด็กในรุ่นเยาวชนกันบ้างมีนักกีฬาอยู่ 2 คนที่ผมค่อนข้างสนใจและรอติดตามผลงานอยู่ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นนักกีฬาที่ฝึกซ้อมในสังกัดเยาวชน SCG Academy นั่นเอง ซึ่งในช่วงที่ทั้งสองคนนี้เข้าฝึกซ้อมในสังกัด SCG นี้ สังเกตุได้ว่า สามารถพัฒนาฟอร์มการเล่นได้ดีขึ้นอย่างเป็นลำดับขึ้นมาเรื่อย
โฆษิต เพชรประดับ 

       คนแรกเป็นนักกีฬาที่ก่อนจะเข้ามาอยู่ค่ายเยาวชน SCG เคยเป็นนักแบดมินตันสโมสรเชียงใหม่มาก่อน เป็นนักกีฬาที่มีความแข็งแรงมาก แม้จะตัวเล็กถ้าเทียบกับเด็กในอายุไล่เลี่ยกัน สไตล์การเล่นมีเกมการเล่นที่เหนียวแน่นทั้งเกมรับและเกมรุก สร้างผลงานในรายการนี้จากการเอาชนะ นักแบดมินตันรุ่นพี่อย่าง ภควัฒน์ วิไลลักษณ์ในรอบก่อนรองชนะเลิศได้อย่างสูสี ซึ่งในการแข่งขันแมตท์นั้นเป็นการพิสูจน์ให้เห็นในตัวเด็กคนนี้ได้เลยว่า เขาพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นตัวแทนของรุ่นพี่ในอนาคตได้อย่างสบาย 
สิทธิคม ธรรมศิลป์

       นักกีฬาอีกคนหนึ่งที่ผมเห็นเด็กคนนี้มาตั้งแต่เริ่มตัดสินแบดมินตันใหม่ๆ ตั้งแต่เด็กคนนี้ยังเล่นอยู่ในรุ่น 13 ปี  (ที่รู้จักดีเพราะเวลาไปตัดสินแบดมินตันตามสนามอื่นหรือต่างจังหวัด แม่ของเด็กคนนี้จะไปขายก๋วยเตี๋ยวเป็นประจำ ซึ่งลูกชิ้นร้านแม่เค้าอร่อยมาก ^^) ซึ่งในปัจจุบัน ตัวน้องคนนี้ก็น่าจะอายุประมาณ 16 ปี ในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวตกรอบ 16 คนสุดท้าย เพราะไปแพ้ให้กับภควัฒน์  วิไลลักษณ์ไปอย่างสนุก ศึ่วน้องเค้ามีสไตล์ในการเล่นที่ต่างไปจากโฆษิต เพชรประดับ คือชอบเล่นเกมบุกมากกว่า ทำให้รูปแบบการเล่นบางครั้งไม่มีความแน่นอน และยังติดเล่นมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะด้วยวัยในระดับนี้สมาธิในการแข่งขันจึคงยังมีไม่เพียงพอเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ก็เป็นได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยทั้งเวลาและประสบการณ์จากการแข่งขันต่อไป 

       และนี่ก็เป็นการเลาะขอบสนามแบดมินตันอีกครั้งหนึ่งของผู้เขียน เป็นทั้งการรายงานสรุปผลการแข่งและการให้ข้อมูลแนะนำนักกีฬาที่เด่นๆในแต่ละรายการ ซึ่งรายการต่อไปจะเป็นที่ใดโปรดติดตามตอนในโอกาสหน้า 

ขอบคุณที่ติดตามครับ ^__^



 

10 กันยายน 2554

สรุปเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย

ปริญญานิพนธ์
เรื่อง
การพัฒนาโปรแกรมการฝึกเพื่อพัฒนาจุดเริ่มล้าในนักวิ่งระยะ 1,500 เมตร
นายโรม  วงศ์ประเสริฐ
พลศึกษา คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



1. มีหลักการและขั้นตอนในการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างไร

          สื่อเละเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาและวิจัยในครั้งนี้คือ การพัฒนาโปรแกรมการฝึกเพื่อพัฒนาจุดเริ่มล้าในนักวิ่ง ซึ่งโปรแกรมการฝึกนี้ได้มีผู้ริเริ่มแนวคิดและทฤษฎีสำหรับการพัฒนาการฝึกกีฬามาอยู่ก่อนบ้างแล้ว ผู้วิจัยเองนั้นได้นำแนวคิด หลักการและทฤษฎีมาปรับใช้ให้เข้ากับกีฬาที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นคือกีฬากรีฑา โดยทำการทดสอบโดยแบ่งกระบวนการวิจัยเชิงทดลองออกเป็น 3 กระบวนการดังนี้
          1.1 กระบวนการทดลองระยะที่ 1 ใช้ระยะเวลา 3 เดือน กลุ่มตัวอย่างคือนักกรีฑาทั้งชายและหญิงจำนวน 60 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆละ 20 คนแล้วทำการฝึกแยกกลุ่ม
      - โปรแกรมการฝึกต่ำกว่าระดับจุดเริ่มล้า (90 % ของอัตราการเต้นของหัวใจที่ระดับจุดเริ่มล้า)  20 คน
      - โปรแกรมการฝึกในระดับจุดเริ่มล้า 20 คน(100%ของอัตราการเต้นของหัวใยจที่ระดับจุดเริ่มล้า)
      - โปรแกรมการฝึก
ระดับสูงกว่าจุดเริ่มล้า (110%ของอัตราการเต้นของหัวใจที่ระดับจุดเริ่มล้า) 20 คน
แล้วเปรียบเทียบดูทั้ง 3 กลุ่มตัวอย่างว่ากลุ่มใดมีระดับของผลที่มีมากต่อการพัฒนาจุดเริ่มล้ามากที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการทดลองกับกลุ่มนักกีฬาที่ต้องการความเข้มข้นของการฝึกสูงขึ้น
          1.2 กระบวนการทดลองระยะที่ 2 ระยะเวลา 3 เดือน เป็นการนำโปรแกรมที่วิจัยแล้วว่าเกิดผลดีที่สุดมาใช้กับการฝึกกลุ่มนักกีฬากรีฑาประเภทวิ่ง 1,500 เมตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการจะศึกษาจำนวน 16 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ประกอบไปด้วย
          - โปรแกรมการฝึกในระยะทั่วไป (General Phase) 3 สัปดาห์
          - โปรแกรมการฝึกในระยะเฉพาะ (Specific Phase) 7 สัปดาห์
          - โปรแกรมการฝึกในระยะการแข่งขัน (Competition Phase) 2 สัปดาห์
          1.3 กระบวนการศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) ซึ่งในกระบวนการนี้เป็นกระบวนการศึกษาร่วมกับกระบวนการทดลองระยะที่ 2 โดยเฉพาะกับนักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาระยะทาง 1,500 เมตร เพื่อนำไปสู่พัฒนาการระยะ 5,000 เมตร ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2003
          ซึ่งแนวคิด หลักการ และทฤษฎีในการศึกษาตลอดจนถูกออกแบบมาเป็นโปรแกรมการฝึกในรูปแบบต่างๆนั้นเกิดมาจากความต้องการในการพัฒนาวิทยาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการฝึกกีฬา ต้องการให้นักกีฬามีความสามารถเฉพาะต่อกีฬาที่เล่นมากยิ่งขึ้น โปรแกรมการฝึกจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกีฬาให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยอย่างเป็นขั้นตอน มีเหตุผล และสามารถตรวจสอบหรือทดสอบได้ได้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายได้ ซึ่งการพัฒนาโปรแกรมการฝึกนี้เกิดขึ้นจากตัวผู้วิจัยที่ต้องการศึกษาในการพัฒนาความแข็งแรง ความอดทนของร่างกายในการวิ่งที่มากขึ้นในการวิ่งระยะทาง 1,500 เมตร ซึ่งการวิ่งระยะทางที่มากขึ้นย่อมที่จะเกิดความล้าที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งถ้าเราไม่มีสมรรถภาพทางกายที่ดีพอ ความล้าในร่างกายอาจถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการแข่งขันนี้ได้ เมื่อรวมกับการได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา หรือการแพทย์ ให้คำแนะนำในโปรแกรมการฝึก ยิ่งทำให้งานวิจัยนี้ดูมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็ถูกพัฒนามาเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างนั่นเอง
 2. มีหลักในการประเมินสู่เทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างไร
          ในการวิจัยครั้งนี้เนื่องจากการทดสอบบางชนิดเป็นการทดสอบที่เกี่ยวกับเรื่องเคมีทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายชนิด ในเรื่องของการวัดค่ากรดแลคติคในการแสเลือด หรือแม้แต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการวิจัยบางตัวมีราคาสูงมาก ซึ่งผู้วิจัยเองก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือเก็บข้อมูลทางการวิจัย เช่นการเจาะเลือดเพื่ออ่านค่ากรดแลคติคในกระแสเลือด หรืออุปกรณ์ช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งสามารถรู้อัตราการเต้นของหัวใจในขณะฝึกได้เป็นอย่างดีตลอดช่วงการทดลอง หรือแม้แต่ในโปรแกรมการฝึกกรีฑาที่จะถูกนำมาปรับใช้ในการฝึกซ้อมกีฬากรีฑานี้เอง ก็ยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านกรีฑา หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาให้คำแนะนำในการออกแบบโปรแกรมการฝึก หรือการนำวิธีการพัฒนาโปรแกรมการฝึกกีฬาไปสู่การฝึกซ้อมกีฬาในชนิดและสาขานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการฝึกนั้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยังมีกลุ่มที่เป็นกรณีศึกษา (Case Study) ที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เพราะฉะนั้น การฝึกของนักกีฬากลุ่มดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผลการแข่งขันออกมาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
          ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเป็นแรงเสริมไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการฝึกกีฬาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งสิ้น ช่วยปัญหาและเวลาในการใช้เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนทำให้งานวิจัยมีความรวดเร็ว สามารถแปรผลจากการฝึกได้เร็ว แม่นยำ และมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น

3. ผลการนำสื่อและเทคโนโลยีการศึกษามาใช้เป็นอย่างไร
          จากการศึกษาวิจัยรวมทั้งหมดแล้วผลปรากฏว่า โปรแกรมการฝึกที่ความหนักของอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าจุดเริ่มล้า สามารถพัฒนาจุดเริ่มล้าได้ดี นั้นก็หมายความว่า ในการฝึกที่ระดับสูงกว่าจุดเริ่มล้านั้น มีผลทำให้เกิดความล้าจากการแข่งขันกีฬาในประเภทกีฬาช้าลง ทำให้นักกีฬามีสถิติการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้น แต่งานวิจัยนี้มีข้อที่ควรระวังคือ การพัฒนาโปรแกรมการฝึกนี้ใช้ในกับนักกีฬาที่เข้าแข่งขันระดับประเทศ หรือนักกีฬาเพื่อฝึกเพื่อความเป็นเลิศเท่านั้น ซึ่งในการทดสอบผลการเปลี่ยนแปลงนอกจากจะมีการทดสอบวิ่งตามระยะทางเพื่อหากรดแลคติคจากการวิ่งแล้วนั้น ยังมีการทดสอบสมรรถภาพทางกายอีกหลายรายการ เพื่อศึกษาถึงผลเปลี่ยนแปลงจากการใช้โปรแกรมการฝึกนี้ ฉะนั้นทั้งนักกีฬาและผู้ฝึกสอนควรศึกษาถึงรายละเอียดในการฝึกให้ดีก่อนนำไปใช้ และให้เกิดการพัฒนาของนักกีฬาจนเองให้มากที่สุด
          การพัฒนาโปรแกรมการฝึกชนิดเพื่อพัฒนาจุดเริ่มล้านับได้ว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนานักกีฬาระดับเพื่อความเป็นเลิศ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาเพื่อนักกีฬาไทยโดยเฉพาะแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อผู้ฝึกสอนกีฬาชนิดอื่น ในการนำโปรแกรมพัฒนานี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับนักกีฬาของตนเองเพื่อให้เกิดศักยภาพในการเล่นกีฬาอย่างสูงสุด