21 กรกฎาคม 2557

5 เหตุผลที่การแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติ ควรมีมากกว่า 2 รายการ


เมื่อท่านผู้อ่านนึกตามหัวข้อ บางท่านอาจสงสัยว่า การแข่งขันระดับชาติ ในกีฬาแบดมินตันบ้านเรา มีการแข่งขันถึง 2 รายการเชียวหรือ?
ซึ่งปกติในการแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติที่เรารู้จักโดยทั่วไปจะมีรายการใหญ่คือรายการ SCG THAILAND OPEN ซึ่งจะจัดการแข่งขันในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี (แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง ในหลายๆปี เราจึงงดจัดการแข่งขันฯ) ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ
เรายังมีการแข่งขันระดับนานาชาติระดับเล็กๆอีกรายการหนึ่งคือ THE SMILING FISH INTERNATIONAL SERIES ซึ่งจัดการแข่งขันช่วงเดือน เมษายน พฤษภาคม ของทุกปี ณ จังหวัดตรัง รายการดังกล่าวถือเป็นรายการใหญ่และมีนักกีฬาระดับเยาวชนทั้งของไทยและต่างประเทศมาทำการแข่งขันเป็นจำนวนมาก

คำถามคือ.......มี 2 รายการในแต่ละปี เพียงพอไหม?

โดยส่วนตัวของผู้เขียนมองว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่ประเทศไทยควรเพิ่มการจัดการแข่งขันฯให้มากกว่าเดิม และขอสรุปป็นหัวข้อใหญ่ๆ 5 เหตุผล มารับใช้ท่านผู้อ่านดังนี้ครับ
1. พัฒนาฝีมือของนักกีฬาไทยให้เข้าถึงเกมส์การแข่งขันระดับที่สงขึ้น อย่างทั่วถึง

   แท้จริงแล้วนักกีฬาไทยในระดับเยาวชนมีความสามารถหลายคน และบางคนมีโอกาสพัฒนาเป็นกำลังหลักสำคัญให้กับทีมชาติไทยในโอกาสต่อไปได้ แต่ก็มักจะติดในเรื่องปัญหาโลกแตกต่างๆ เช่น เน้นการเรียนเป็นสำคัญเมื่อโตขึ้น ขาดการสนับสนุน ฯลฯ และอีกประการหนึ่งคือ ขาดโอกาสในการแข่งขันในเกมส์ระดับที่สูงขึ้น ซึ่งแมตท์การแข่งขันในประเทศไทยมีเยอะก็จริง แต่นักกีฬาเหล่านี้เห็นหน้า เห็นฝีมือกันมาตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบแล้ว ซึ่งถ้าตระเวนแข่งขันทั่วประเทศไทย เด็กเหล่านั้นรู้ฝีมือกันหมด ถึงเวลาที่เด็กๆเหล่านั้นต้องไปพบกับคู่ต่อสู้ต่างชาติและรับมือกับความละเอียดในการเล่น ความแข็งแกร่ง ความอดทน (ซึ่งเด็กไทยยังไม่แข็งแกร่งเท่า แต่สามารถพัฒนาได้) เสียบ้าง
   แต่ด้วยเหตุผลที่รายการใหญ่ระดับ THAILAND OPEN เป็นรายการระดับ GRAND PRIX GOLD ซึ่งผู้ที่จะเข้าทำการแข่งขันรายการนี้ได้ ต้องมีคะแนนสะสมของโลก เพียงพอที่จะทำการแข่งขันได้ ทำให้นักกีฬาไทยสูญเสียโอกาสที่จะสัมผัสเกมส์การเล่นระดับนี้ไปมากพอสมควร
2. ลดค่าใช้จ่ายในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันยังต่างประเทศ

   ด้วยเหตุที่การแข่งขันระดับนานาชาติมีน้อย จึงต้องส่งแข่งยังต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อคนที่จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลย ไหนจะค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากิน ค่าอยู่ในประเทศนั้นๆเป็นเวลาอีกหลายวันอีก ซึ่งในปัจจุบันหลายๆสโมสรมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนอยู่บ้างประปราย       
  แต่เขาจะอยู่อีกนานแค่ไหนกันหล่ะ?
ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับผลงานของนักกีฬาเอง เมื่อได้รับโอกาสไปแข่งขัน จะทำผลงานได้ดีแค่ไหน ทำให้สโมสรเห็นถึงศักยภาพของตัวเองมากแค่ไหน นั่นอยู่ที่ตัวของนักกีฬาเองที่จะพิสูจน์ฝีมือในสนามแข่งขัน
3. กระตุ้นและพัฒนาให้กีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาอาชีพ
แบดมินตันอาชีพเคยมีในเมืองไทยแต่ขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง จึงต้องยกเลิกไป
   เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ประเทศไทยสามารถทำได้แล้วในกีฬาฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก (ดิวิชั่น1 และ 2 ยังเป็นลักษณะกึ่งอาชีพ) ซึ่งแท้จริงแล้วผู้เขียนมองว่า กีฬาบุคคลอย่าง แบดมินตันเป็นกีฬาอาชีพ ที่สามารถพัฒนาเป็นกีฬาอาชีพได้ เพราะแต่ละบุคคลก็มีฐานของแฟนคลับอยู่มากพอสมควร ซึ่งในช่วงต้นปี 50 การแข่งขันแบดมินตันอาชีพฯ ได้เริ่มต้นการแข่งขันมาบ้างแล้ว แต่ก็ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องงบดุลการจัดการแข่งขัน และเงินรายได้จากการแข่งขันของนักกีฬา (การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งนั่นเป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่เพียงพออยู่แล้ว)
   ท่านผู้อ่านเคยดูการแข่งขันแบดมินตันลีกอาชีพ ของ อินเดีย หรืออินโดนีเซียสิครับ ทำไมเขาถึงทำได้ ทำไมเขามีความสามารถในการจ้างนักกีฬาระดับท็อป 1-10 ไปแข่งได้ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในประเทศ และทั้งต่างประเทศ(รวมทั้งตัวผู้เขียน) มากมายขนาดนั้น  ผมเชื่อว่าประเทศไทยถ้าปรับปรุงเรื่องระบบการบริหารงานดีๆ สามารถทำได้ครับ (คืนความสุขให้ประชาชน อิอิ)
แบดอาชีพฯที่อินโดนีเซีย ดึงน้องครีมไปแข่งขัน
และความแชมป์มาครองในปี 2014
ลีกอาชีพ ที่อินเดีย ดึงนัักกีฬาระดับโลกเข้าร่วมแข่งขันมากมาย
4. พัฒนากรรมการสนามของประเทศไทย

   ผู้ตัดสินของประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ หากมีการแข่งขันในประเทศที่เพียงพอแล้ว กรรมการสนามเหล่านี้ย่อมได้รับโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น ทั้งการนั่งเป็นกรรมการกำกับเส้น ระบบเทคนิคสนามและการแข่งขัน ให้มีความเป็นสากลและปฏิบัติงานในระดับต่างๆได้อย่างไหลลื่น ได้รับการไว้วางใจในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
5. กระจายสปอนเซอร์
   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตั้งแต่น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ คว้าแชมป์โลกประเภทหญิงเดี่ยวเมื่อปี 2013 (ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ) บรรดาบริษัท ห้างร้าน ต่างรุมจับจ้องกีฬาแบดมินตันกันชนิดตาเป็นมันเลยครับ พร้อมจะสนับสนุนกีฬาแบดมินตันในรูปแบบต่างๆอย่างเต็มที่ แต่ด้วยรากฐานของผู้สนับสนุนเดิมที่ค่อนข้างเหนียวแน่น จึงเป็นเรื่องยากที่บรรดาผู้สนับสนุนเหล่านั้นจะเจาะฐานผู้สนับสนุนเดิมได้
   วิธีนี้สามารถแก้ไขได้โดยการจัดการแข่งขันฯในระดับอื่น ไม่ว่าจะเป็น ระดับ GRAND PRIX, CHALLENCE , INTERNATIONAL และเปิดให้ผู้สนับสนุนใหม่ที่พร้อมจะสนับสนุน มาเป็นผู้สนับสนุนใหญ่ในรายการนั้นๆ รับรองได้ว่าการแข่งขันในระดับนานาชาติเกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นดอกเห็ดอย่างแน่นอนครับ

สุดท้ายนี้ผมขออยากเรียนให้ท่านผู้อื่นทราบถึงสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของบรรดาต่างประเทศให้ทราบดังนี้ครับ
-   ประเทศเวียดนาม มีการแข่งขันระดับนานาชาติ 3 รายการในปี 2014 คือ GRAND PRIX, CHALLENCE, และ INTERNATIONAL
-    ประเทศออสเตรเลียที่ไม่ได้มีนักกีฬาระดับโลกสูงเท่าเมืองไทย ทำไมถึงได้จัดการแข่งขันระดับ SUPER SERIES ?

-       เมืองที่แบดมินตันยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรอย่าง ดูไบ ทำไมถึงได้จัดการแข่งขันระดับ SUPER SERIES FINAL (Destination Dubai) ติดต่อกันถึง 4 ปี ?

เราพลาดอะไรตรงไหนไปครับ?...............................
เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่างหรือไม่ครับ?.........................................

เป็นเรื่องน่าคุ้มที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เล่น.....มิใช่หรือครับ? ^___^


ขอขอบคุณ
รูปภาพประกอบจาก smasherteam.blogsport.com , www.badzine.net , www.ciputrahanoi.com.vn
                                  zimbio.com , /www.thehindu.com/ , www.onebadmintonacademy.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น